สุโขทัย CRAFTS AND FOLK ART
“สังคโลก” หรือ “เครื่องสังคโลก” เป็นคำที่ใช้เรียก สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องถ้วย ชาม เครื่องประดับประติมากรรม สถาปัตยกรรม และสิ่งที่ทำขึ้นจากความเชื่อ หรือสำหรับใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นใน เขตจังหวัดสุโขทัย เมื่อสมัยอาณาจักรสุโขทัย-อยุธยา หรือราวปลายปีพุธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 22 ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบขึ้นในแคว้นต่าง ๆ ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยหลายแห่ง พบมากในแคว้นสุโขทัย และล้านนา โดยเฉพาะในแคว้นสุโขทัย มีทั้งเตาผลิตเครื่องปั้นดินเผาทั้งชนิดเคลือบ และไม่เคลือบ เพื่อใช้สำหรับเป็นของใช้ในบ้าน และส่งออกขายต่างประเทศ แหล่งผลิตเครื่องสังคโลกที่สำคัญอยู่ที่แหล่งเตาสุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง และ แหล่งเตาศรีสัชนาลัย. หรือเมืองสวรรคโลกเก่า อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า คำเรียกว่า “สังคโลก” เป็นคำที่ผิดเพี้ยนมาจากคำว่า สวรรคโลก ซึ่งน่าจะเกิดจากพ่อค้าเรือชาวจีนผู้ค้าสังคโลกคนกลางรายใหญ่ ที่ออกเสียงเรียกผลิตภัณฑ์จากเมืองสวรรคโลกไม่ถูกต้องตามสำเนียงเดิม กลายเป็น “สังคโลก” อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ เป็นข้อสันนิษฐานโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งทรงพระอธิบายความเพิ่มเติมในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง กล่าวว่า คำเรียกนี้น่าจะมาจาคำจีน คำว่า “สัง” และน่าจะมาจากคำว่า “ซัง” หรือ “ซอง” ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับ “ซ้อง” อันเป็นชื่อราชวงศ์ซ้องที่ปกครองประเทศจีนระหว่างพุทธศักราช 1503 ถึง 1822 ส่วนคำว่า “กะโลก” หรือ “คโลก” น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “โกลก” ซึ่งเป็นคำจีน แปลว่า “เตา”เมื่อรวมกันเป็น “ซ้องโกลก” ก็ควรจะแปลความว่า “เตาแผ่นดินซ้อง” ซึ่งชาวญี่ปุ่นเองก็เรียกเครื่องถ้วยชามสีเทาของจีนในสมัยซ้องนี้ว่า “ซ้องโกลก” เช่นกัน
เครื่องสังคโลก เป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งหรือเนื้อหิน (Stoneware) ขึ้นไป โดยแหล่งสำคัญที่พบจะอยู่ในแคว้นสุโขทัย และล้านนา โดยเฉพาะในแคว้นสุโขทัยมี หัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์งานเครื่องสังคโลกอยู่ที่ภูมิปัญญาในการสร้างและใช้งานเตาเผาที่เรียกกันว่า “เตาทุเรียง” โดยเตาเผาเครื่องสังคโลกสำคัญ ๆ ในสุโขทัยนั้นมีแหล่งผลิตอยู่ 2 แห่งด้วยกัน คือ
แหล่งเตาสุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย พบเตาตั้งเรียงรายอยู่เป็น 4 กลุ่ม ตั้งยาวไปตามลำน้ำโจน ลักษณะของเตาที่พบล้วนเป็นเตาอิฐที่ก่อบนเนินดินที่ถมสูงขึ้นมาทั้งสิ้น ซึ่งประเภทของเตานี้มีทั้งเตาเผาชนิดระบายความร้อนไหลผ่านในแนวขึ้น และเตาเผาชนิดระบายความร้อนไหลผ่านในแนวนอน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เตาตะกรับ มักเป็นเตาขนาดเล็กที่สร้างขึ้นอย่างง่าย ๆ มีทั้งแบบที่เป็นรูปทรงกลม และทรงเหลี่ยม ใช้สำหรับผลิตเครื่องสังคโลกประเภทเนื้อดินธรรมดา (Earthenware) ประเภทเขียนลาย ใต้เคลือบสีดำ ที่เป็นของใช้ประจำวันในครัวเรือน เช่น หม้อ กุณฑี และไห เป็นต้น หรืออาจะใช้ในการเผาดิบเพื่อไล่ความชื้นและตรวจสอบสภาพของเนื้อดินของภาชนะว่ามีการแตกร้าวเสียหายหรือไม่
แหล่งเตาศรีสัชนาลัยหรือเมืองสวรรคโลกเก่า อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย พบเตาเผาจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่บริเวณสองฝั่งของลำน้ำยม โดยผลิตจากกลุ่มเตาที่สำคัญ คือ กลุ่มเตาบ้านเกาะน้อย และกลุ่มเตาบ้านป่ายาง ซึ่งเตาส่วนมากนั้นจะเป็นเตาประทุนหรือเตาระบายความร้อนผ่านแนวนอน เครื่องสังคโลกที่ได้จากเตานี้จะเป็นงานที่มีความประณีตทั้งในแง่ของรูปร่าง การตกแต่ง และมีคุณภาพสูงกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแหล่งเตาเผานี้มีมากมายหลายปะเภทด้วยกัน อาทิ ประเภทเครื่องเคลือบเขียวหรือเซลาดอน ประเภทเคลือบขาว ประเภทเคลือบสีน้ำตาล และประเภทเคลือบสองสี รวมทั้งภาชนะเนื้อแกร่ง ชนิดไม่เคลือบด้วย
ภูมิปัญญาสำคัญของการทำเครื่องสังคโลกนั้นก็คือเรื่อง ดิน ดินแต่ละแหล่งจะให้ผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์ต่างกันอาจอยู่ที่เนื้อดินและสูตรการผสมดิน รวมถึงความสามารถเชิงช่าง ดังนั้นก่อนที่จะสร้างสรรค์ชิ้นงานช่างจะต้องทำความเข้าใจลักษณะของดิน เฟ้นหาแหล่งดิน การผสม และกรองเนื้อดิน และเลือกใช้ดินที่มีลักษณะตรงกับรูปแบบและลักษณะใช้สอยของภาชนะแต่ละชนิด ดินที่ใช้เป็นวัตถุหลักนั่นคือ ดินเหนียว และช่างจะนำส่วนประกอบ หรือดินชนิดอื่น ๆ เข้ามาผสม เพื่อให้ไม่เกิดการหดตัวเวลาเผา
เอกลักษณ์อันโดดเด่นของเครื่องสังคโลกนั้นอยู่ที่ลวดลายแตกลายงาบนตัวชิ้นงาน ซึ่งลวดลายนั้นทำให้ดูโดดเด่น ลวดลายแตกลายงาที่เกิดขึ้นเกิดจากการหดตัวของเนื้อดินและน้ำเคลือบที่ไม่เท่ากัน ซึ่งลักษณะของดินที่นำมาใช้จากแหล่งต่าง ๆ เองก็มีผลต่อการเกิดลวดลายบนเครื่องสังคโลกด้วย นอกจากลายแตกงาแล้ว ฝีมือการเขียนหรือวาดลายของช่างสุโขทัยนั้นก็เป็นที่เลื่องลือไม่น้อย การเขียนลายนั้นจะต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญและมีอารมณ์ศิลปินอย่างแท้จริง เนื่องจากลวดลายบนเครื่องสังคโลกนั้นจะใช้เทคนิคการเขียนลายแบบ Freedom in Brushworks คือการวาดลายแบบอิสระเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่สวยงาม
ลายสังคโลกในอดีตนั้น ช่างจะเขียนลายลงบนเนื้อภาชนะแบบ Biscuit Firing ซึ่งหมายถึงภาชนะดินที่ผ่านการเผามาแล้วครั้งหนึ่งด้วยความร้อนที่ไม่สูงนักในเตาเผาที่เรียกว่า “เตาตะกรับ” แล้วจึงเขียนสีโดยใช้แร่ธาตุที่มีอยู่รอบตัว เช่น สีดำที่ได้จากดินแดงหรือดินลูกรัง เป็นต้น โดยรองพื้นด้วยน้ำสลิปก่อนเพื่อความสวยงาม บางครั้งมีการจุ่มน้ำสลิปหนามากเพื่อปกปิดความหยาบและรูพรุนของเนื้อดิน จากนั้นจึงนำไปชุบน้ำยาเคลือบก่อนเผาอีกครั้งด้วยอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งนอกจากการเขียนลวดลายแบบอิสระแล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ ในการสร้างลวดลายได้อีก อาทิ การขูดขีด การขุดให้เป็นร่องลึก การกดประทับ เป็นต้น
ลวดลายบนเครื่องสังคโลกนั้นนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสวยงามแล้ว ในบ้างครั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ สภาวะแวดล้อมของสุโขทัย และบางครั้งอาจแฝงไปด้วยความหมาย เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านเมืองในสมัยนั้น ดังนั้นลวดลายบนเครื่องสังคโลกจึงเป็นเสมือนสิ่งที่ช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ส่วนที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ได้มากยิ่งขึ้น
1. ลายพันธุ์พฤกษา อาทิ
1.1 ลายดอกบัว แทนความหมายของความอุดมสมบูรณ์ ความบริสุทธิ์
1.2 ลายดอกโบตั๋น ตัวแทนความร่ำรวย ความงาม ลายดอกเบญจมาศ ซึ่งใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย แทนความหมายของความยั่งยืน ทั้งยังมีลายอื่น ๆ เช่น ลายดอกพิกุล
ลายก้านขด ลายก้านแบ่ง ลายกอหญ้า ลายกอปรง ลายกอสาหร่าย เป็นต้น
2. ลายรูปสัตว์ อาทิ
2.1 ลายปลา ทั้งปลาเดี่ยว ปลาคู่ว่ายน้ำวน เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความสุข ลาย
นาคหรือลายมังกร สื่อความหมาย ถึงความดีเลิศ ตัวแทนของจักรพรรดิ
2.2 ลายนกเป็ดน้ำ สื่อความหมายการครองคู่ในชีวิตสมรสอย่างยั่งยืนชั่วนิรันดร์
2.3 ลายหงส์ ที่มาจากสัตว์ในเทพนิยายจีน ที่จะปรากฎในคราวที่บ้านเมืองสงบร่มเย็น สมบูรณ์ พูนผล สื่อความหมายถึงจักรพรรดินี หมายถึงความซื่อสัตย์ ยุติธรรม
และ ความเมตตากรุณา เป็นต้น
2.4 ลายหอยสังข์ เป็นเครื่องหมายของพระธรรมเทศนาหรือพระสุรเสียงของพระพุทธเจ้า
3. ลายช่องกระจก อาทิ ลายช่องกระจกรูปหกเหลี่ยม และแปดเหลี่ยม ลายช่องกระจกรูปกลีบบัว เป็นต้น
4. ลายเรขาคณิต อาทิ ลายร่องขนานแนวตั้ง ลายตาราง ลายกากบาทในช่องสี่เหลี่ยมสลับลายแนวตั้ง ลายเส้นวงกลมคู่ขนาน ลายเส้นหยักฟันปลา เป็นต้น
5. ลายเบ็ดเตล็ด อาทิ ลายคลื่น ลายคล้ายหัวลูกศร ลายบั้งนายสิบ ลายดวงอาทิตย์ ลายก้อนเมฆ ลายจักร ลายดวงดาว เป็นต้น
เอกลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการทำเครื่องสังคโลกคือ การตกแต่งผิวด้วยการเคลือบ โดยใช้น้ำยาเคลือบซึ่งเป็นสารประกอบอะลูมินา (Alumina) ซิลิกา (Silica) และสารที่ช่วยในการหลอมละลายในกระบวนการความร้อน มีลักษณะคล้ายแก้ว ทำหน้าที่ ฉาบบนผิวผลิตภัณฑ์ มีลักษณะโปร่งใส เปราะ และสามารถทนต่อการละลายของกรดและด่างได้เป็นอย่างดี (ที่มา: ทวี พรหมฤกษ์ เครื่องเคลือบดินเผาเบื้องต้น (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์ 2523) หน้า 94) การเคลือบจะใช้ขี้เถ้าไม้ และ หินฟันม้า ผสมในอัตราส่วนที่เท่ากัน นำมาเผาที่อุณหภูมิมากกว่าหนึ่งพันองศาเซลเซียสจะทำให้เกิดเคลือบสีแตกต่างกันไปตามชนิดของไม้ที่นำมาเผา อาทิ เคลือบใส เคลือบสีเขียว เคลือบสองสี เคลือบสีขาวและสีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ สีเขียวอมฟ้า เป็นต้น ลักษณะการเคลือบที่ปรากฏในเครื่องสังคโลกมีหลายประเภท แตกต่างกันไปดังนี้
1. เคลือบใส เป็นเคลือบธรรมดาที่ใสเหมือนแก้ว ไม่มีสี นิยมทำกันแพร่หลาย
2. เคลือบขุ่น เป็นการเคลือบทึบแสงที่ต้องการการปิดบังเนื้อดินปั้นภายในที่มีสี ไม่ให้เห็นสี
3. เคลือบสี จะใช้น้ำยาเคลือบผสมสารเคมีซึ่งเป็นออกไซด์ของโลหะต่าง ๆ และขึ้นอยู่กับการควบคุมอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาอีกด้วย จนเกิดความแตกต่างของสีเคลือบ
4. เคลือบด้าน โดยการเติมอะลูมินา Alumina หรือเติมสารที่มีคุณสมบัติเป็นแก้ว เช่น แป้ง กระดูก ลงในน้ำเคลือบ
5. เคลือบผลึก เป็นการเคลือบที่เกิดผลึกอยู่ภายใต้ผิวเคลือบ โดยเติมสังกะสี หรือแคลเซียมลงในน้ำ
6. เคลือบราน เกิดจากการจงใจให้เกิดความสวยงามบนภาชนะโดยการผสม Flux (วัตถุหรือสารปรับอุณหภูมิการละลายตัวเป็นจำนวนมากเกินไป) จะทำให้เกิดรานได้ง่าย ราน คือ ลักษณะการแตกลายงาที่ผิว อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้เทคนิคการเปิดเตาเผาเคลือบอย่างรวดเร็ว แต่จะไม่สวยงามเหมือนวิธีแรก
1. เตรียมดิน เริ่มจากทำความสะอาดดิน โดยการร่อนดินผงด้วยตระแกรงตาถี่ จากนั้นผสมดินผงกับน้ำทิ้งไว้ประมาน 1 สัปดาห์ แล้วนำออกมาตากแดดประมาน 1 วัน เพื่อให้ดินหมาด นำดินมาตำให้เข้ากันแล้วนวดดินอีกครั้งเพื่อให้ดินมีความเหนียว ไม่แข็งหรือเหลวจนเกินไปพักไว้โดยไม่ให้ลมพัดผ่านรอการนำไปปั้นขึ้นรูป ดินที่ใช้นั้นมาจากสองแหล่งด้วยกัน คือ แหล่งดินทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย (ซึ่งเป็นวิธีการแบบโบราณที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน) และแหล่งดินสำเร็จรูปจากจังหวัดลำปางหรือจังหวัดเชียงใหม่
2. การขึ้นรูป ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีแล้วแต่รูปแบบผลิตภัณฑ์
2.1 การขึ้นรูปอิสระหรือการขึ้นรูปด้วยมือ เป็นการนำดินมาปั้นขึ้นรูปโดยการใช้มือในการปั้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ช่างปั้นสามารถรังสรรค์ผลงาน เป็นรูปคน รูปสัตว์ และภาชนะ
ต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
2.2 การขึ้นรูปโดยใช้แป้นหมุน เป็นการนำแป้นหมุนไฟฟ้าหรือแป้นหมุนมือมาใช้ในการปั้น มักปั้นเป็นภาชนะต่าง ๆ อาทิ จาน ชาม ถ้วย แก้ว และแจกัน เป็นต้น
2.3 การขึ้นรูปโดยการใช้แม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ โดยการใช้มือกดดินลงในแม่พิมพ์โดยตรง หรือใช้วิธีการเทน้ำดินลงในแม่พิมพ์ก็ได้ ซึ่งวิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ต้องการผลิตสินค้า
เป็นจำนวนมาก และเป็นงานที่ต้องการให้มีความเหมือนหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด
3. การตกแต่งผลิตภัณฑ์ ในขั้นตอนของการตกแต่งผลิตภัณฑ์นี้จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน 3.1 ช่วงแรก ตกแต่งในขณะที่ชิ้นงานนั้นหมาด ๆ โดยจะทำการปั้นต่อเติมเฉพาะส่วน หรือใช้อุปกรณ์ตกแต่งทำการขูดเนื้อดินออกก็ได้ เช่น ปั้นงานติดแก้วและขูดหรือขีดลวดลายลงบนจาน
3.2 ช่วงที่สอง จะทำการตกแต่งลวดลายหลังจากการเผาผลิตภัณฑ์ในครั้งแรกแล้ว เช่น การวาดลายด้วยการเขียนลวดลายใต้เคลือบ หลังจากการเผาครั้งแรก จากนั้นจะ
นำไปเขียนลวดลายด้วยสีที่ได้จากแร่เหล็ก นำไปชุบน้ำเคลือบและเผา หลังจากเสร็จแล้วจะได้ภาชนะที่มีลวดลายเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีเทาอมดำที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน
อยู่ภายใต้น้ำเคลือบใส
4. การเผาหรือการอบผลิตภัณฑ์ โดยจะทำการเผาทั้งหมด 2 ครั้ง ดังนี้
4.1 เผาครั้งแรก หรือ เผาดิน (การเผา Biscuit) คือการนำชิ้นงานที่ผลิตเสร็จและนำไปตากลมจนแห้งสนิทแล้ว นำมาเข้าเตาเผาซึ่งอาจจะเป็นเตาที่ก่อด้วยอิฐ เตาแก๊ส หรือ
เตาไฟฟ้าก็ได้ ทำการเผาที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาในการเผา 8 – 14 ชั่วโมง หลังจากครบตามเวลาแล้วจะได้ชิ้นงานที่มีสีแดงหรือสีขาวนวล
4.2 เผาครั้งที่สองหรือเผาเคลือบ เป็นการนำชิ้นงานที่เผาดิบแล้วมาทา จุ่ม หรือพ่นด้วยสีเคลือบ โดยสีเคลือบนั้นจะมีสีใต้เคลือบร่วมอยู่ด้วย ให้เคลือบใสทับอีกชั้นแล้วจึงนำเข้าเตาเผาโดยเผาที่อุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส ใช้เวลาเผาประมาณ 10 – 16 ชั่วโมง แล้วนำชิ้นงานออกจากเตาเผามาเช็ดทำความสะอาด ถือเป็นอันเสร็จ
• ประเภทภาชนะเครื่องใช้ อาทิ จาน ชาม ตลับ ขวด กุณฑี (ภาชนะมีลักษณะกลมแป้น คอสูง ตอนบนผายออกเป็นปีก ปากแคบ มีขอบสูง พวยเป็นกระเปาะคล้ายเต้านมสตรี) กุณโฑ แจกัน ไห กา กระปุก ตุ๊กตาเคลือบสีเขียว
• ประเภทเครื่องประดับเชิงสถาปัตยกรรม อาทิ ช่อฟ้า หางหงส์ กระจัง กระเบื้องเชิงชาย บราลี (ใช้ประดับสันหลังคา) และรูปสัตว์ที่ประดับหลังคา กระเบื้องปูพื้น รั้วและราวลูกกรงล้อมรอบพระสถูป
ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นนี้จึงทำให้งานเครื่องสังคโลกของสุโขทัยกลายเป็นงานประณีตศิลป์ที่ได้รับความนิยม มีชื่อเสียงอย่างมากจนภายหลังมีการผลิตเครื่องสังคโลกขึ้นเพื่อเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ สามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและพัฒนาอาณาจักรสุโขทัยในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ทำให้เมืองสุโขทัยและเมืองสวรรคโลกกลายเป็นเมืองสำคัญ
ด้วยคุณค่าในด้านของความงดงาม ด้านประโยชน์ใช้สอย ด้านของเศรษฐกิจ และในด้านของศิลปวัฒนธรรม ที่แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงทักษะเชิงช่างของชาวสุโขทัย สะท้อนความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างคนกับธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่เป็นถิ่นฐานบ้านช่อง เบื้องหลังความงดงามแข็งแกร่งของเนื้อดิน ความละเอียดงดงามของศิลปกรรม ทำให้เครื่องสังคโลกกลายเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จากรุ่นสู่รุ่น และในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบของเครื่องสังคโลกให้มีความหลากหลายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ สามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน พร้อมทั้งยังมีการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของภูมิปัญญาและรูปแบบดั้งเดิมอีกด้วย
แหล่งที่มา :
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เที่ยวเมืองพระร่วง พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพฯ : ไทยเขษม 2521) ในงานพระราชทานเพลิงศพพระวิสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุธ เลขยานนท์)
- เสนอ นิลเดช “สังกโลก” หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเกษม จียะพันธ์ (นครหลวง กรุงเทพธนบุรี : โรงพิมพ์พระจันทร์ 2515) หน้า 11-12
- ดร.ธันยกานต์ วงษ์อ่อน และ ดร.ปริวรรต ธรรมาปรีชากร “เครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยและศรีสัชนาลัย”(กรุงเทพฯ : S.P.M. การพิมพ์ 2558)
- ป้ายข้อมูล จากร้านสุเทพสังคโลก