สุโขทัย CRAFTS AND FOLK ART
ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย นอกจากเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์แห่งแรก ๆ ของจังหวัดสุโขทัย ที่นี่ยังมีภูมิปัญญาการปรับสภาพผืนผ้าด้วยดิน เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวบ้านนาต้นจั่น ที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น วิธีการทำผ้าหมักโคลนเกิดจากการสังเกตของชาวบ้านว่าตอนดำนาผ้าส่วนล่างที่ใส่ไปนาก็จะเปื้อนโคลน หลังจากกลับบ้านมาซักและทำความสะอาดแล้ว จึงสังเกตว่าผ้าในส่วนล่างที่เปื้อนโคลนนั้นมีความนิ่มกว่าผ้าส่วนบนที่ไม่เปื้อนโคลน จึงกลายมาเป็นภูมิปัญญาผ้าหมักโคลนพื้นบ้าน ที่ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน
การทำผ้าหมักโคลน ยังเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านบ้านนาต้นจั่นอีกทางหนึ่ง โดยชาวบ้านในชุมชนบ้านนาต้นจั่นรวมตัวกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น วิสาหกิจชุมชนตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนาต้นจั่น วิสาหกิจชุมชนผ้าด้นมือ วิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรบ้านนาต้นจั่น ส่วนฝ้ายที่นำมาใช้ทอผ้านั้น เดิมทีจะใช้ฝ้ายจากธรรมชาติที่ชาวบ้านปลูกกันเอง แต่ในช่วงหลังจะใช้ฝ้ายสีขาวจากโรงงาน แล้วนำมาต้มด้วยสีธรรมชาติอีกครั้ง







ขั้นตอนในการทำผ้าหมักโคลนนั้นไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก การย้อมสีผ้า (ย้อมสีฝ้ายหรือย้อมสีผ้า) ของชาวบ้านบ้านนาต้นจั่นนั้น จะเป็นการย้อมผ้า (ย้อมสีฝ้ายหรือย้อมสีผ้า) ที่ใช้สีธรรมชาติ เริ่มจากการย้อมเส้นฝ้ายสีขาว ซึ่งแต่ละสีก็จะได้มาจากเปลือกไม้ ใบไม้หรือดอกไม้ อาทิ ต้นมะกอก ต้นหว้า ให้สีเขียวครีม ใบสะเดาให้สีเขียว แก่นขนุนให้สีเหลืองอมเขียว เป็นต้น ในขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง และจะต้องใส่เกลือลงไปเพื่อไม่ให้สีตก และใส่ผงซักฟอกเพื่อไม่ให้ผ้าหดตัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับของชาวบ้านแห่งนี้
เมื่อได้สีของเส้นฝ้ายที่ต้องการแล้วนำไปทอตามลวดลายตามเอกลักษณ์ของผ้าทอบ้านนาต้นจั่น ซึ่งลวดลายส่วนใหญ่ลอกเลียนแบบจากธรรมชาติ เช่น ลายผักแว่น ลายดอกพิกุล
พอได้ผ้าทอเป็นผืนแล้วแล้วก็นำมาหมักในโคลน ซึ่งโคลน ก็มาจากการเก็บตามท้องนาของหมู่บ้าน ซึ่งจะต้องนำมาคัดเศษผงที่เจือปนออก ก่อนนำไปผสมกับน้ำตามสัดส่วน หลังจากนั้นนำผ้ามาหมักไว้ และทิ้งไว้ 1 คืน (หากเกินกว่านั้นจะทำให้ผ้าเปื่อย) แล้วนำผ้าขึ้นมาซักกับน้ำจนกว่าน้ำจะใส (เป็นเทคนิคในการทำให้สีไม่ตก) เพื่อเป็นการยืนยันว่าสีไม่ตก และนำไปผึ่งให้แห้ง เสร็จสิ้นกระบวนการนี้ก็จะได้ผ้าฝ้ายสีสันสดใสและนุ่มน่าสัมผัส
การทอผ้ายก เป็นกรรมวิธีการทอให้เกิดลวดลายโดยการยกตะกอแยกด้ายเส้นยืน และในบางครั้งการยกดอกจะมีการเพิ่มด้ายเส้น พุ่งจำนวนสองเส้น หรือมากกว่านั้นเข้าไปในผืนผ้าลวดลายที่ทอจะเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม










ซึ่งตีนจกก็จะมีลายประกอบอิกมากมายตามแต่จินตนาการของช่างทอจะเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเชื่อทางศาสนา ได้แก่ ลายสัตว์ ลายพืช ลายจากสิ่งของเครื่องใช้ และลายเรขาคณิต
ปัจจุบันทางกลุ่มได้ออกแบบตัดเย็บผ้าหมักโคลนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูปมีทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย เช่นเสื้อ กางเกง ชุดแซก (Dress) เสื้อผ้าร่วมสมัย สำรับทุกเพศทุกวัย รวมทั้งกระเป๋าด้นมือจากเศษผ้าหมักโคลนและพวงกุญแจของที่ละลึกต่าง ๆ
แหล่งที่มา :
นาต้นจั่น ป้าเสงี่ยม แสวงลาภ
ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย


